วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สรุปวิจัย

เรื่อง  การศึกษาความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  
( A  STUDY  OF  MULTIPLE  INTELLIGENCES  ABILITIES  OF  YOUNG  CHILDREN  ENHANCING  SCIENCE  PROCESS  ACTIVITIES )

ผู้วิจัย  :  พิมพ์พรรณ ทองประสิทธิ์ ( PIMPUN  THONGPRASIT )


ความมุ่งหมายของการวิจัย
          การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อศึกษาความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.ด้านภาษา 2.ด้านตรรกะ/คณิตศาสตร์ 3.ด้านมิติสัมพันธ์ 4.ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 5.ด้านดนตรี 6.ด้านความเข้าใจตนเอง 7.ด้านความเข้าใจผู้อื่น และ8.ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของการวิจัย
          การวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางสำหรับครูและผู้เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
สมมติฐานของการวิจัย
          เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความสามารถทางพหุปัญญาในด้านต่างๆสูงขึ้น
ขอบเขตของการวิจัย
          1.ประชากรแลกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
             1.1.ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
                   ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชายหญิงที่อายุระหว่าง 5-6ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1
             1.2.กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
                   กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชายหญิงที่มีอายุระหว่าง 5-6ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 จำนวน 15คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบเจาะจง (Purposive sample) โดยเลือกจากคะแนนของนักเรียนที่วัดได้จากแบบวัดพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับอนุบาลปีที่ 3 ของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ที่มีคะแนนระดับปานกลางและต่ำ
          2.ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
             การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 โดยทำการทดลองเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ๆละ 3ครั้งๆ ละ 60 นาที รวม 24 ครั้ง
วิธีดำเนินการวิจัย
           การวิจัยครั้งนี้ มีวิธีการดังนี้
           1.ก่อนการทดลอง ผู้วิจัยจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์แบบปกติเป็นระยะเวลา 3 ครั้งๆละ 60 นาที ผู้ช่วยวิจัยทำการสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาของนักเรียนที่เป็นกลุ่ม ตัวอย่างโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญา แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาคะแนนพื้นฐาน (Baseline) ของพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาแต่ละด้านของเด็กปฐมวัย
          2.ผู้วิจัยดำเนินการทดลอง โดยการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์เป็นเวลาครั้งละ 60 นาที เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 นาทีรวม 24 ครั้ง
          3.ในช่วงเวลาทดลองผู้ช่วยวิจัยทำการสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญา จากการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในช่วงสัปดาห์ที่ 2,4,6 และ8 โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างคะแนนของพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาแต่ละด้านของเด็กปฐมวัยเพื่อนำไปแปลความหมายต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูล
          การวิเคราะห์ข้อมูล มีขั้นตอนดังนี้
             1.หาค่าสถิติพื้นฐานของพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยแต่ละด้าน ในแต่ละช่วงสัปดาห์ (สัปดาห์ละ 2,4,6 และ 8) โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาคะแนนเฉลี่ย (Mean) มัธยฐาน (Median) และความเบี่ยงเบนมาครฐาน (Standard Deviation)
             2.นำข้อมูลที่ได้มาแสดงเป็นเส้นภาพ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยแต่ละด้าน
             3.วิเคราะห์เปรียบเทียบพฤติกรรมความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยแต่ละด้านก่อนการจัดกิจรรมในช่วงเวลาจัดกิจกรรม และในระหว่างสัปดาห์โดยใช้สถิติการทดสอบสมมติฐาน The Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks Test
สรุปผลการวิจัย
               เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความสามารถทางพหุปัญญาทุกด้าน ได้แก่ ความสามารถทางด้านภาษา ความสามารถทางด้านตรรกะ/คณิตศาสตร์  ความสามารถทางด้านมิติสัมพันธ์  ความสามารถทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  ความสามารถทางด้านดนตรี  ความสามารถทางด้านความเข้าใจผู้อื่น  ความสามารถทางด้านความเข้าใจตนเองและ ความสามารถทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกช่วงของการเปรียบเทียบ และ ความสามารถทางพหุปัญญาทุกด้าน มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้น ตลอดช่วงเวลาของการจัดกิจกรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น